การเล่นและการพัฒนาของเด็กเป็นสิ่งของคู่กัน เพราะการเล่นนั้นจะช่วยพัฒนาด้านต่างๆ ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การฝึกทักษะ การแก้ปัญหา เพื่อที่จะได้พัฒนาไปถึงทักษะที่ซับซ้อนได้ ซึ่งการเล่นที่เหมาะกับช่วงวัยหรือพัฒนาการของเด็ก ย่อมจะส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นของลูกคือ พ่อแม่ เพราะพ่อแม่เป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก และเสริมด้วยเทคนิคการเล่น เพื่อกระตุ้นและเสริมพัฒนาการของลูกน้อยให้เหมาะสมกับช่วงวัย ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้นไปอ่านกันเลย
ช่วงแรกเกิด - 3 เดือน เด็กในวัยนี้ชอบมองหน้าคน พ่อแม่อาจจะพูดคุยกับลูกในขณะที่กำลังเปลี่ยนผ้าอ้อมร่วมกับการมองหน้าสบตาก็จะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ
การเล่นที่เหมาะสมในวัยนี้ คือ เล่นกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การดมกลิ่น การรับรส เช่น
- เล่นปูไต่ประกอบกับการร้องเพลงกล่อมที่มีเสียงสูงๆ ต่ำๆ : จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทางผิวหนังและทักษะด้านสังคม โดยเฉพาะการมองหน้าสบตา
- แขวนของเล่นชนิดแขวน : เด็กวัยนี้ชอบสีสันสดใส ชอบมองการเคลื่อนไหว และถ้าเป็นโมบายที่มีเสียง เมื่อได้ยินเสียงลูกจะหันหาเสียงและขยับมือขยับเท้า
ในบางครั้งลูกอาจชอบมองกระจกเพื่อดูหน้าตัวเองที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่จะเชื่อมตัวเองกับสิ่งแวดล้อม การเล่นแบบนี้จะช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันและช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองได้ดีขึ้นครับ
ช่วง 4 - 6 เดือน เด็กวัยนี้จะเล่นอย่างมีจุดหมายและซับซ้อนมากขึ้น การเล่นมี่เหมาะสม ได้แก่
- การร้องเพลงที่มีการเคลื่อนไหว : เช่น โยกเยกเอย เพราะลูกสนใจในเรื่องของการเคลื่อนไหวแขนและขา
- ของเล่นกรุ๊งกริ๊ง : เพราะลูกมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งรอบตัวและช่างสังเกตมากขึ้น
- ตุ๊กตาผ้านุ่มๆ ที่มีขนแตกต่างกัน : เพราะจะช่วยให้ลูกได้สัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การหลอกล่อให้ลูกเอื้อมหยิบตุ๊กตาก็จะช่วยให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย
- เล่นเลียนแบบเสียงพูด : คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกโดยพยายามทำเสียงบางคำซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกตอบกลับมา อาจเป็นคำที่ไม่มีความหมายก็ได้ แต่ควรเป็นเสียงที่เลียนแบบได้ง่าย เช่น จ๋า จ๊ะ
คุณแม่สามารถเล่นสิ่งเหล่านี้ร่วมไปกับการใช้ชีวิตประจำวันของลูก อย่าง เวลาอาบน้ำหรือใส่ผ้าอ้อมก็ได้ครับ
ช่วง 6 - 9 เดือน เด็กวัยนี้เริ่มที่จะเคลื่อนไหวได้เอง เรียนรู้การใช้เหตุผลง่าย ๆ เสริมทักษะทางภาษาที่ดีขึ้น
- เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นตบแปะ : ลูกจะมีการตอบสนองต่อการเล่นแบบนี้ของคุณพ่อคุณแม่ได้เป็นอย่างดี
- เพลงที่มีท่าทางประกอบ : เพราะเด็กจะมีการตอบสนองและช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือมัดเล็ก เช่น เพลงนิ้วโป้งอยู่ไหน เพลงจับปูดำ เพลงแมงมุมขยุ้มหลังคา
- ยางสำหรับกัด : เพราะในช่วงแรกลูกจะสำรวจของเล่นด้วยปาก
ช่วง 9 - 12 เดือน เด็กวัยนี้เริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารบทสนทนาง่ายๆ สั้นๆ เริ่มเข้าใจภาษาท่าทางของพ่อแม่
- หนังสือภาพ : เล่นกับลูกด้วยการฝึกชี้รูปภาพจากหนังสือ โดยจับมือลูกชี้ภาพที่เราพูดแล้วให้ลูกพูดตาม
- นิทานคำคล้องจองหรือนิทานคำกลอน : ภาษาซ้ำๆ อย่าง กาเอ๋ยกา การร้องเพลงหรือท่องบทกลอนจะช่วยส่งเสริมความเข้าใจภาษา และเป็นการฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับฐานเสียงต่างๆ
- เล่นตุ๊กตาหุ่น : สมมติให้ตุ๊กตาคุยกับลูกโดยที่เราเป็นฝ่ายทำเสียง และให้ลูกคุยโต้ตอบกับตุ๊กตา จะเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาได้เป็นอย่างดี
- ของเล่นลากจูง : ลูกเริ่มชอบที่จะเกาะยืน การเล่นของเล่นลากจูงจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อต่างๆ ได้อย่างสมดุล
ช่วง 1 - 2 ขวบ เด็กวัยนี้เริ่มเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระมากขึ้น เริ่มเป็นตัวของตัวเอง
- เกมไล่จับ : ในช่วง 1 ขวบต้นๆ บางครั้งลูกยังอาจชอบคลานมากกว่าเดิน เราอาจจะเล่นกับลูกด้วยการคลานไล่จับ คลานทันบ้างไม่ทันบ้างเพื่อสร้างความสนุกสนานให้แก่ลูก ลูกจะชอบเล่นมากเพราะเป็นการเล่นที่เข้ากับพัฒนาการของเขาได้พอดี
- เล่นเลียนแบบ : การเล่นเลียนแบบเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้ชื่นชอบ เช่น เห็นแม่กวาดบ้าน เด็กก็อยากจะกวาดบ้านตาม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจใช้โอกาสจากการเล่นนี้เป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อที่จะให้ลูกทำตามค่ะ
- ร้องเพลงประกอบท่าทาง : เพราะเด็กๆ จะได้หัดปรบมือให้เข้าจังหวะและทำท่าประกอบจังหวะเป็นการฝึกภาษาท่าทางและฝึกการทำงานของร่างกายให้สัมพันธ์กัน รวมไปถึงทำให้ได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ เพลงที่แนะนำคือ เพลงช้าง หรือเพลงร่างกายของเรา สำหรับหนังสือที่เด็กวัยนี้ชอบจะเป็นหนังสือที่มีภาพเดี่ยวเหมือนจริง เช่น รูปสัตว์ รูปผลไม้ เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนสนใจหนังสือที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ของเด็ก คลิกเลย!!
ติดต่อสอบถามหนังสือได้ที่
Tel. : 0847003219
Line@ : @serazu
Website: www.serazu.com
E-mail : cc@serazu.com
!! เมื่อสั่งซื้อสินค้าครบ 899 จัดส่งฟรี !!