Promotion
Review : หนังสือเก่งศัพท์สอบ TOEIC TOEFL และสอบเข้ามหาวิทยาลัย

Review: หนังสือติวศัพท์ฉบับจำ prefix ได้ใน 7 สัปดาห์

ชื่อหนังสือ: เก่งศัพท์สอบ TOEFL TOEIC และสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ผู้เขียน: ซอจังฮยอก
ผู้แปล: อาริดา
สำนักพิมพ์: Think Beyond
ปีที่พิมพ์: 2560
ราคา: 199 บาท
ลักษณะกระดาษ: กระดาษขาว พิมพ์ขาวดำทั้งเล่ม
จริงๆ เคยรีวิวหนังสือติวศัพท์เตรียมสอบมาหลายเล่มแล้ว แต่ละเล่มก็มีแนวทางการสอนของตัวเอง และจัดหลักสูตรการอ่านทบทวนแตกต่างกันไป ส่วนเล่มนี้อาจจะมีขนาดเล็กกว่าเล่มอื่นที่เคยรีวิวมา แต่เนื้อหาข้างในอัดแน่นไม่แพ้กันเลยค่ะ พี่ทดลองอ่านโดยทำตามตารางที่หนังสือจัดมาแล้วก็รู้สึกโอเคด้วย

สำหรับคำศัพท์ในหนังสือเล่มนี้สามารถใช้เป็นพื้นฐานในการสอบ CU-AAT , CU-BEST (เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ) , CU-TEP และ CU-ATS ได้ด้วย






แนะนำหนังสือ

เล่มนี้เป็นหนังสือติวศัพท์ที่เน้นท่องจำศัพท์ผ่านตัว prefix เป็นหลักค่ะ จะจัดหมวดหมู่ศัพท์ตาม prefix เอาไว้ เช่นกลุ่มที่ขึ้นด้วย con- หรือกลุ่มที่ขึ้นด้วย de- เป็นต้น นอกจากนี้ก็แบ่งคำศัพท์ทั้งหมดเป็น 7 กลุ่ม สำหรับท่อง 7 สัปดาห์ค่ะ



เนื้อหาแต่ละบทย่อยจะเริ่มที่ prefix ประจำบทค่ะ บอกว่า prefix นั้นแปลว่าอะไร แล้วก็ตามด้วยตัวอย่างการรวม prefix กับคำอื่น เพื่อให้เห็นภาพ ก่อนที่จะเป็นลิสต์ศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย prefix นั้นๆ ค่ะ



ตัวศัพท์ที่มาในลิสต์จะมีคำแปล แล้วก็มีศัพท์ที่เกี่ยวข้องให้เพิ่มเล็กน้อย บ้างก็เป็นความหมายของศัพท์ที่มารวมกับ prefix บ้างก็เป็นการนำคำนั้นไปใช้ในวลี บ้างก็เป็นตัวอย่างในประโยคค่ะ โดยส่วนตัวพี่คิดว่าที่แต่ละคำให้มาไม่เหมือนกัน ผู้เขียนน่าจะเลือกยกสิ่งที่ทำให้เข้าใจและเห็นภาพความหมายของคำนั้นชัดเจนที่สุดมา ทำให้แต่ละคำได้ศัพท์เกี่ยวข้องที่ต่างกันไปนั่นเอง



พี่ทดลองอ่านตามที่หนังสือแนะนำมาครบ 7 สัปดาห์ ถือว่ากำลังดีนะคะ แต่ละสัปดาห์ไม่ได้หนักหนามากเกินไปในการจำ แต่ก็ยอมรับว่าในแต่ละสัปดาห์อ่านหลายรอบอยู่ค่ะ โดยสมมติตัวเองว่าอยู่ม.6 อีกครั้ง (เกือบ 10 ปีแน่ะ 55555) มโนว่าอยู่ช่วงเตรียมสอบค่ะ เลยคิดวิธีทบทวนในแต่ละสัปดาห์ไว้ด้วย น้องๆ จะลองทำตามก็ได้นะคะ



แต่ละสัปดาห์ที่หนังสือแบ่งมา จะมีจำนวนศัพท์ไม่เท่ากันค่ะ จำนวน prefix ก็ไม่เท่ากัน แต่ว่าแต่ละสัปดาห์จะมีประมาณ 25 - 30 หน้าค่ะ พี่อ่านสัปดาห์ละ 6 วัน ก็จะแบ่งได้ประมาณวันละ 5 หน้า มีบวกลบบ้างโดยพยายามเก็บคำที่อยู่ในหมวด prefix เดียวกันให้อยู่วันเดียวกัน ไม่ให้เหลือเศษไปทบกับอีกวันค่ะ แล้วก็อ่านวน 5 หน้าที่แบ่งไว้นั้นประมาณ 2-3 รอบค่ะ ขึ้นกับว่าเจอศัพท์ที่รู้จักอยู่แล้วเยอะมั้ย ถ้าวันไหนเจอแต่ตัวยากๆ ก็จะซ้ำบ่อยขึ้น พอมั่นใจ ก็ทดสอบตัวเองซะเลยค่ะ



หากระดาษมา 3 แผ่นค่ะ จะตัดกระดาษ A4 แผ่นเดียวให้เป็น 3 ส่วนแบบในรูปเลยก็ได้ค่ะ ส่วนแรกเป็นกระดาษแนวผอมๆ ยาวๆ เอาให้พอปิดแถบคำศัพท์ด้านหน้าได้มิด ส่วนอีก 2 แผ่น ขอเป็นกระดาษไซส์พอดีปิดตัวหนังสือได้เต็มทั้งหน้า จริงๆ จะเอาสมุดมา 2 เล่มเพื่อใช้แทนกระดาษ 2 แผ่นใหญ่ก็ได้นะคะ แต่พอใช้สมุดมาปิดพี่รู้สึกว่ามันทำให้หนังสือแหก แล้วก็ไหลร่วงจากหนังสือได้ เลยใช้กระดาษแทน เวิร์กดีค่ะ


การทดสอบก็คือ ปิดแถบศัพท์ด้านหน้าก่อน แล้วก็ให้กระดาษแผ่นใหญ่ 2 แผ่นปิดฝั่งคำแปล โดยค่อยๆ เลื่อนให้โชว์เฉพาะคำแปลค่ะ (ไม่เอาตัวอย่างหรือศัพท์ที่เกี่ยวข้องด้วยนะ) จากนั้นก็เขียนศัพท์ภาษาอังกฤษจากคำแปลที่เราเจอค่ะ จริงๆ พอเรารู้ว่ามันคือหมวด prefix ตัวไหนอยู่ก็ทำให้เดาศัพท์ได้ไม่ยากนะคะ



อย่างที่บอกไปว่าพี่อ่าน 6 วันต่อสัปดาห์ แต่วันที่ 7 ก็ไม่ได้ปล่อยไว้เฉยๆ นะคะ วันที่ 7 มีไว้ทดสอบรวบยอดของทั้งสัปดาห์ค่ะ จากที่วันก่อนๆ ทอสอบแค่ประมาณ 5 หน้าต่อสัปดาห์ วันที่ 7 จะทดสอบทั้งเกือบ 30 หน้าของสัปดาห์นั้นเลยค่ะ วันนี้แหละยากจริง เพราะจะต้องเจอ prefix หลายตัวพร้อมๆ กัน แถมมักเป็นตัวหน้าคล้ายๆ กันก็จะมึนบ้าง แต่พอได้แล้วมันก็ได้เลยนะ



ทีนี้มาดูข้อติกันบ้างค่ะ นั่นคือมีบางคำที่อ่านแล้วเอ๊ะๆ ค่ะ บางคำผู้เขียนนำไปใส่หมวด prefix เดียวกัน ทั้งที่จริงๆ มันเป็นคนละตัว แค่หน้าตาคล้ายกันเท่านั้น เช่น abroad จริงๆ มันมาจาก a + broad เป็น prefix ตัว a- ค่ะ แต่ในเล่มผู้เขียนแยกเป็น ab + road เพื่อใส่ในหมวด ab- แทน โดยให้จำว่า ab คือ ไกล รวมกับ road ที่แปลว่าถนน กลายเป็นหนทางไกลๆ ซึ่งก็คือต่างแดน จริงอยู่ที่ความหมายของ abroad คือถูก



และการจำว่ามาจาก road ก็เป็นเทคนิคที่ดีที่ช่วยให้เห็นภาพชัด เพราะน่าจะเข้าใจง่ายกว่าการบอกว่ามันมาจากคำว่า on brode ในอดีต ถ้ามองในแง่สำหรับเด็กเตรียมสอบเฉยๆ ก็เป็นวิธีลัดดีๆ ที่ทำให้จำง่ายและจำไวกว่า แต่ถ้ามองในแง่คนสนใจเรียนทางภาษาศาสตร์ในระยะยาว ก็จะมีความเอ๊ะอยู่ในใจค่ะ คิดว่าจุดนี้ผู้เขียนน่าจะมีอธิบายเพิ่มเล็กน้อยว่า มันไม่ได้เกิดจาก prefix ว่า ab แล้วไปรวมกับถนนจริงๆ นะ เป็นแค่เทคนิคให้จำเฉยๆ ถ้ามีอธิบายเพิ่มแบบนี้จะเลิศขึ้นไปอีกเลยค่ะ



อีกตัวอย่างที่รู้สึกเอ๊ะ ก็เช่นคำว่า edge ที่แปลว่ามุมหรือขอบค่ะ จริงๆ มันเป็นคำของมันมาอยู่แล้ว มาจากรากศัพท์ว่า ek- แล้วก็ค่อยเปลี่ยนเสียงลงท้ายไปเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการของภาษา เป็น ecg, egg แล้วค่อยกลายเป็น edge แบบในปัจจุบัน แต่ในหนังสือจับมาไว้ในกลุ่ม prefix ตัว e- ที่แปลว่าข้างนอก คือก็เข้าใจนะว่ามุมหรือขอบเนี่ย มันก็คือส่วนนอกสุด จะออกข้างนอกอยู่แล้ว ไว้กับกลุ่มนี้เพื่อให้จำความหมายของคำได้ง่ายขึ้นก็ดูจะเป็นเทคนิคที่ดีค่ะ แต่ถ้าน้องๆ เข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว อย่าลืมไปหาอ่านความเป็นมาของคำว่า edge ใหม่นะ



จริงๆ คำที่เอ๊ะๆ เนี่ย ก็ไม่ได้เยอะนะคะ นานๆ เจอที มีไม่กี่คำ แล้วก็จัดไว้กับกลุ่มคำที่ความหมายมันไปทางเดียวกันด้วย มองว่ามันเป็นเทคนิคลัดในการจำละกัน เหมือนเทคนิคลัดในการคิดเลขที่อาจจะต่างไปจากวิธีตามขั้นตอนทีละบรรทัด แต่สุดท้ายผลลัพธ์มันก็ออกมาเหมือนกัน ถ้าการจำเพื่อไปทำข้อสอบคือผลลัพธ์ที่ต้องการ ก็อาจจะเป็นวิธีที่จำเป็นในการท่องจำในเวลาอันสั้นค่ะ



ส่วนตัวคำศัพท์ที่คัดมาให้ ก็ถือว่าเลือกมาได้ดีมากค่ะ เป็นคำเจอในข้อสอบบ่อยจริงๆ ไม่ว่าจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบ TOEFL หรือ TOEIC (สอบมาครบแล้ว อันนี้ยืนยัน) มีบางคำที่อาจจะรู้สึกว่ายากไปบ้าง แต่มันก็เคยโชว์ตัวในบทความที่ให้อ่านในข้อสอบ Reading ของ TOEFL อยู่ค่ะ



ทีนี้มาดูคะแนนกันค่ะ


เล่มนี้คำศัพท์ค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นแนะนำให้จัดตารางอ่านให้ดี และแบ่งเป็น 7 สัปดาห์ตามที่หนังสือแนะนำด้วยนะคะ จะทดสอบตัวเองแบบที่พี่แนะนำด้วยก็ดีค่ะ น่าจะช่วยคนความจำสั้นได้ดี ตั้งใจทบทวนและฝึกฝนกันนะคะทุกคน


ที่มา : https://www.dek-d.com/studyabroad/47504/
สินค้าที่เกี่ยวข้อง
เก่งศัพท์สอบ TOEIC TOEFL และสอบเข้ามหาวิทยาลัย
฿169.15
-15.00%
฿199
สินค้าแนะนำ
เก่งศัพท์สอบ TOEIC TOEFL และสอบเข้ามหาวิทยาลัย
฿169.15
-15.00%
฿199